นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อเพิ่มขีดความสามารถ อุตสาหกรรมไทยด้วยการเงินสีเขียว-พลังงานสะอาด ในงานเสวนาเดลินิวส์ ทอล์ก 2025 ว่า สิ่งที่แก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้คือการออกกฎหมายมาเพิ่มเติม เช่น ร่างพ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม โดยขณะนี้เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมตรี(ครม.) ก่อนจะเสนอเข้าสู่สภาฯ
โดยถือเป็นพ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรมฉบับแรกของไทย พร้อมกับสิ่งสำคัญคือเงินทุนจากกองทุนความยั่งยืนให้กับธุรกิจขนาดเล็ก ส่งเสริมสร้างแต้มต่อ เข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ เชื่อว่าในอีก 1-2 ปี จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้ธุรกิจไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันบนเวทีโลก
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมไปสู่โลกสีเขียว สิ่งที่ขาดอยู่คือเรื่องเงินทุน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งต้องพึ่งพาเงินทุนมาลงทุน เช่น พึ่งพาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในการลงทุน และเงินทุนจากธนาคารเอกชน ธนาคารของรัฐ เพื่อให้ผู้ประกอบการระดมทุน
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ได้เห็นสัญญาณสำคัญทั่วโลก จากสัญญาณความขัดแย้ง ทั้งสงครามการค้า ภูมิรัฐศาสตร์ สภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะน้ำท่วมในภาคเหนือของไทยในพื้นที่ที่ไม่เคยท่วมมาก่อน และในต่างประเทศหิมะตกกลางทะเลทราย และเรื่องสงครามการค้าหนักที่สุด จากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ พยายามประกาศขึ้นภาษีนำเข้าประเทศคู่ค้า
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่แน่นอนคือ ความแน่นอนว่าตอนนี้ตกอยู่ในสภาวะความไม่แน่นอนทุกวัน สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งสงครามเศรษฐกิจและสงครามการค้าของโลก รวมทั้งปรากฎการณ์ภูมิอากาศ จากโลกร้อน แต่สิ่งที่เป็นปัญหาไม่ใช่แค่แผ่นดินไหว แต่คือตึกถล่ม เป็นปัญหาส่งสัญญาณว่าไทยไม่มีความพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหว และภัยธรรมชาติ กลายเป็นสิ่งที่ส่งมาถึงสังคม และรัฐบาลว่า ที่ผ่านมาไม่เคยปฏิรูปปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของไทย และวันนี้ระบบเศรษฐกิจยืนอยู่บนขา หรือเสาที่ไม่แข็งแรงเหมือนตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
นายเอกนัฏ กล่าวอีกว่า อย่าเพิ่งกังวล เพราะมีทางออก โดยมองว่าระบบเศรษฐกิจต้องปรับเปลี่ยน และมีเงินทุนเข้ามาช่วย แต่ช่วงที่ผ่านมาไทยได้เปิดรับเทคโลยีที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ามาในไทย ด้วยการที่เปิดรับธุรกิจต่างประเทศแต่ไม่มีการกำกับดูแล และเข้ามาทำลายธุรกิจของคนไทย
อย่างไรก็ตาม แต้มต่อต้องดูมูลค่าของสินค้า ดูการลงทุนว่าแบบไหนดี เพื่อทำให้ไทยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้น ช่วยสนับสนุนการค้าขายในไทย ส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยี และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) ต้องทบทวนนโยบายใหม่ ส่งเสริมให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน เป็นประโยชน์กับคนไทยและธุรกิจไทยหรือไม่
“เหล็กเป็นแค่ตัวอย่างสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน แม้ที่ผ่านมาพยายามออกมาตรฐานเหล็กหลายประเภท แต่ก็ได้หลบเลี่ยงการนำเข้าเหล็กผ่านการนำเหล็กหลายประเภทรวมกันเพื่อนำเข้า ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีเกณฑ์ควบคุมว่าได้มาตรฐานหรือไม่ และมีการนำเข้ามามากกว่า 6 แสนตันในปี 67 จนเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ตึกสตง.ถล่มตอนแผ่นดินไหว เพราะเหล็กไม่ได้มาตรฐาน”
นอกจากนี้ อีกหนึ่งภารกิจคือจัดการกับอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญของประเทศชาติ จัดการกลุ่มสีเทาและสีดำออกไป และต้อนรับธุรกิจสีขาว จึงจะทำให้ธุรกิจของไทยเจริญเติบโต เนื่องจากที่ผ่านมามีการแข่งขันไม่เป็นธรรม เพราะธุรกิจกลุ่มนี้พยายามลดราคาตีตลาด นำสินค้าด้อยคุณภาพมาลดราคา เช่น เหล็กไม่ได้คุณภาพมาอยู่ในตึกสูงหลายแห่ง เพื่อต้องการลดต้นทุน ลดคุณภาพ และเกิดการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ซึ่งอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ นอกจากจะสร้างปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีเรื่องการจัดการของเสีย ซึ่งที่ผ่านมาได้ลักลอบนำของเสียออกมา เช่น ซินเคอหยวน นำเข้าฝุ่นแดง ฝุ่นดำ มากองไว้ให้เกิดมลพิษ โดยกระทรวงฯต้องการจัดการกับเหล็ก ล้อยาง ศูนย์เหรียญ และให้บีโอไอปรับเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน ให้สะดวก สะอาด โปร่งใส
นอกจากนี้ต้องปฏิรูป ปฏิวัติ และปรับตัว เช่น การมีเงินทุนจากธนาคาร ส่งเสริมให้ติดโซลาร์เซลล์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะมีราคาถูกลง และไทยเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ใช้แสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้า โดยแก้กฎหมายให้อุตสาหกรรมติดโซลาร์ไม่ต้องขอ รง.4 เช่นเดียวกับบ้านเดี่ยว และภาคธุรกิจ ติดโซลาร์ไม่ต้องขอหน่วยงานใดๆ ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถลดค่าไฟและลดต้นทุนได้
ขณะเดียวกันการเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปภายใน เป็นรถฟ้า (อีวี) โดยภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังไปอีวี แต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนสันดาปภายในต้องปรับเปลี่ยน ถ้าผลักดันไปสู่ดิจิทัลทุกอย่างต้องใช้เงินเพื่อไปสู่การปรับตัวโลกยุคใหม่ และไม่เชื่อว่าสิ่งที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ทำอยู่ คือการสร้างกำแพงภาษี ท้าทายตลาดเสรี และละเลยความไม่สนใจต่อภาวะการเปลี่ยนไปของสิ่งแวดล้อม เชื่อว่าต้านทานอำนาจธรรมชาติไม่ได้